ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai Rsc :: ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 - 2563

เลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรียกร้องประเทศสมาชิกให้ส่งเสริมทศวรรษความปลอดภัยทางถนนอย่างจริงจัง

จากการประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  นาย บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการด้านทศวรรษความปลอดภัยทางถนนให้กับทางที่ประชุมได้รับทราบและเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกส่งเสริมการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงเกือบ 1.3 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 90 เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจนและปานกลาง  กว่า 20-50 ล้านบาดเจ็บอย่างรุนแรง  ความสูญเสียเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดการสาเหตุหลัก ได้แก่ การขับรถเร็ว การคาดเข็มขัด ดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย ถนนที่ขาดการดูแลรักษาที่ดี ถนนและยานพาหนะที่ไม่ปลอดภัย และการจัดการช่วยเหลือที่ไม่เหมาะสม    เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา กว่า 110 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนทศวรราความปลอดภัยและผลักดันแผนการจัดการที่เป็นรูปธรรมตามแนวทางเพื่อจัดการกับสาเหตุหลักเหล่านี้  
ท่านเลขาฯได้ชี้ให้เห็นว่าการเปิดตัวทศวรรษแห่งความปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เป็นโอกาสที่พิเศษที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อกำหนดเป้าหมาย พัฒนาแผน ดำเนินการ ตลอดจนติดตาม ประเมินผลความคืบหน้า   โดยปัญหาที่สำคัญคือความปลอดภัยทางถนนยังขาดการจัดการอย่างเป็นระบบในหลายประเทศ  ขาดหน่วยงานหลัก ขาดกฎหมายที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของถนนที่ยังไม่เพียงพอ 
ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือการขาดระบบข้อมูลและศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อการติดตาม ประเมินผลการทำงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง
เพื่อสะท้อนความสำคัญของปัญหา ที่ประชุมใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกได้มีการดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้

- จัดทำแผนทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของแต่ละประเทศตามกรอบของแผนทศวรรษความปลอดภัยโลก
- พัฒนากฏหมาย หลักเกณฑ์ มาตรฐาน ด้านความปลอดภัยทางยานพาหนะให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์การสหประชาชาติ
- ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยของยานพาหนะกับผู้บริโภคเพื่อการเลือกซื้อรถที่ปลอดภัย
- ยกระดับความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ ความเร็ว การคาดเข็มขัดนิรภัย เบาะที่นั่งเด็ก ดื่มแล้วขับ และการสวมหมวก รวมทั้งการรณรงค์ และการทำงานบังคับใช้กฎหมายที่ต่อเนื่อง
- พัฒนากลไกงบประมาณเพื่อการสนับสนุนการทำงานที่ยั่งยืน
- ยกระดับการทำงานด้านการดูแลหลังการเกิดอุบัติเหตุ
- ให้ความสำคัญด้านการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการจัดการ เพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบทางสังคม และเศรษฐศาสตร์ และความคุ้มทุนในการลงทุน

พฤศจิกายน 2554

ที่มา www.oknation.net